ระบำโบราณคดี

(

                ระบำโบราณคดีเกิดจากแนวคิดของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งได้พบภาพเขียน ภาพปั้น และภาพจำหลักตามโบราณสถาน และโบราณวัตถุสมัยต่างๆ ทั้งที่พบในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง จึงได้นำมาประกอบแนวคิดประดิษฐ์สร้างเครื่องดนตรี และท่านาฏศิลปแต่ละสมัยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยขอให้นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย และศิลปินแห่งชาติ แต่งทำนองขึ้นตามแนวคิดนั้น โดยมอบให้นางลมุล ยมะคุปต์ นางเฉลย ศุขะวณิช และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญการสอน     นาฏศิลปไทย และศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ สร้างเป็นระบำโบราณคดี 5 ชุด ดังนี้

                             ชุดที่   1   ระบำทวาราวดี   ( พุทธศตวรรษที่ 11 – 16 )

                             ชุดที่   2   ระบำศรีวิชัย      ( พุทธศตวรรษที่ 13 – 18 )

                             ชุดที่   3   ระบำลพบุรี        ( พุทธศตวรรษที่ 16 – 19 )

                             ชุดที่   4   ระบำเชียงแสน   ( พุทธศตวรรษที่ 17 – 25 )

                             ชุดที่   5   ระบำสุโขทัย      ( พุทธศตวรรษที่ 19 – 20 )               

                                  1.ระบำทวาราวดี                                

ความเป็นมา                                                                        

     

สมัยทวารวดีอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11–16   

ระบำทวารวดีเป็นระบำชุดที่ 1     

ในระบำโบราณคดีซึ่งมีทั้งหมดด้วยกันรวม 5 ชุด นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ริเริ่มขึ้นโดยทำการสอบสวนค้นคว้าจากหลักฐานภาพปั้นและภาพจำหลักที่ขุดค้นพบ ณ โบราณสถานสมัยทวารวดี เช่นที่ คูบัว อู่ทอง นครปฐม โคกไม้เดนและจันเสน 

        หลังจากนั้น นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ได้สร้างสรรค์ทำนองเพลง 

        และมอบหมายให้นายสนิท ดิษฐ์พันธ์ เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย

       นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ลีลาท่ารำตามทำนองเพลงที่นายมนตรี ตราโมท ได้สร้างสรรค์ขึ้น

       นักปราชญ์ทางโบราณคดีได้วินิจฉัยไว้ตามหลักฐานที่พบว่าประชาชนชาวทวารวดีเป็นมอญหรือเผ่าชนที่พูดจาภาษามอญ เพราะฉะนั้น ดนตรีและลีลาท่ารำในระบำชุดนี้จึงมีสำเนียงและท่ารำเป็น แบบมอญ 

        ระบำชุดนี้ได้จัดแสดงถวายทอดพระเนตรเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2510 ในงานเปิดอาคารสร้างใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

            

                              ดนตรี                           

  เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ ประกอบด้วย

      1. พิณ 5 สาย 

      2. จะเข้ 

      3. ขลุ่ย 

      4 ระนาดตัด 

      5.ตะโพนมอญ 

      6.ฉิ่ง 

      7.ฉาบ

      8.กรับคู่ 

 

                                     2.ระบำศรีวิชัย                              

 ความเป็นมา                                                                        

 สมัยศรีวิชัยอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-18 

 ระบำศรีวิชัยเป็นระบำชุดที่ 2

     สมัยศรีวิชัยมีอาณาเขตตั้งแต่ภาคใต้ลงไปจนถึงดินแดนของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียบางส่วนปัจจุบัน

     ระบำศรีวิชัยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509  ตนกู อับดุล รามานห์ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้แต่งเรื่อง Raja Bersiyong ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย และได้เชิญคณะนาฏศิลป์ไทย   ไปแสดงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ กรมศิลปากรได้จัดการแสดง 2 ชุด คือ รำชัดชาตรี และระบำศรีวิชัย       โดยระบำศรีวิชัยนี้มอบให้ นางลมุล ยมะคุปต์   ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์)ปีพุทธศักราช 2530 เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ

       นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง

 (ดนตรีไทย) ปีพุทธศักราช 2528  เป็นผู้แต่งทำนองเพลง โดยอาศัยหลักฐานจากศิลปกรรมภาพจำหลักที่สถูปบุโรพุทโธในเกาะชวา ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์ อันเป็นยุคเดียวกันกับสมัยศรีวิชัย สร้างขึ้นในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 การแต่งทำนองเพลง กระบวนท่ารำ และเครื่องแต่งกาย ประดิษฐ์ขึ้นจากลักษณะที่ปรากฏอยู่บนภาพจำหลักผสมกับท่วงท่าของนาฏศิลป์ชวา เรียกว่า ระบำศรีวิชัย และได้นำไปแสดงเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ ณ กรุง กัวลาลัมเปอร์ และนครสิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2510 

       ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ได้มีการปรับปรุงระบำศรีวิชัยใหม่ทั้งกระบวนท่ารำและทำนองเพลงบางตอน เพื่อให้เข้ากับระบำโบราณคดีอีก 4 ชุด สำหรับนำออกแสดงให้ประชาชนชมในงานดนตรีมหกรรม ณ สังคีตศาลา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2510 และได้แสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรในงานเสด็จพระราชดำเนินทางเปิดการแสดงศิลปะโบราณวัตถุในอาคารสร้างใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2510 โดยมีนายสนิท ดิษฐพันธ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นางชนานันท์ ช่างเรียน สร้างเครื่องแต่งกาย นายชิต แก้วดวงใหญ่ สร้างศิราภรณ์ และเครื่องประดับ

                                   3.ระบำลพบุรี                                  

 ความเป็นมา                                                                      

สมัยลพบุรีอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 – 19

ระบำลพบุรี เป็นระบำชุดที่ 3 

 เกิดขึ้นจากแนวความคิดของนายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เช่นเดียวกับระบำทวารวดี  ประดิษฐ์ขึ้น โดยอาศัยหลักฐานจากโบราณวัตถุ และภาพจำหลักตามโบราณสถาน ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบศิลปะของขอม ที่อยู่ในประเทศกัมพูชา และประเทศไทย อาทิ พระปรางค์สามยอดในจังหวัดลพบุรี ทับหลังประตูระเบียงตะวันตกของปราสาทหินพิมายในจังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้งในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น การแต่งทำนองเพลง กระบวนท่ารำ และเครื่องแต่งกาย จึงมัลักษณะคล้ายเขมรเป็นส่วนใหญ่ ระบำลพบุรีแสดงครั้งแรกเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรในงานเสด็จพระราชดำเนินทางเปิดการแสดงศิลปะโบราณวัตถุในอาคารสร้างใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2510 และภายหลังได้นำออกแสดงในโรงละครแห่งชาติและที่อื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนชม

      นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปีพุทธศักราช 2528 เป็นผู้แต่งทำนองเพลง โดยมีสำเนียงออกไปทางเขมร

       นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ปีพุทธศักราช 2530 เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ

       นายสนิท ดิษฐพันธ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นางชนานันท์ ช่างเรียน สร้างเครื่องแต่งกาย นายชิต แก้วดวงใหญ่ สร้างศิราภรณ์

                                  4.ระบำเชียงแสน                              

ความเป็นมา                                                                      

สมัยเชียงแสนอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17 – 25

ระบำเชียงแสน เป็นระบำชุดที่ 4 

ประดิษฐ์ขึ้นตามแบบศิลปะ และโบราณวัตถุสถานเชียงแสน นักโบราณคดีกำหนดสมัยเชียงแสน อยู่ในระหว่าง ซึ่งได้เผยแพร่ไปทั่วดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย ในสมัยโบราณเรียกว่าอาณาจักรลานนา ต่อมามีนครเชียงใหม่เป็นนครหลวงของอาณาจักร และเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานอันเจริญรุ่งเรือง จนถึงมีพระเถระไทยผู้เป็นนักปราชญ์สามารถแต่งตำนาน และคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลีขึ้นไว้หลายคัมภีร์ อาทิ คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ และมังคลัตถทีปนี เป็นต้น ศิลปะแบบเชียงแสนได้แพร่หลายลงมาตามลุ่มแม่น้ำโขงเข้าไปในพระราชอาณาจักรลาว สมัยที่เรียกว่าลานช้าง หรือกรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วแพร่หลายเข้าในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้วย เช่น พระพุทธรูปบางชนิดที่นักโบราณคดีบางท่าน บัญญัติเรียกว่า พระพุทธรูปเชียงแสนแบบลาว หรือพระลาวพุงขาว ด้วยเหตุนี้ระบำเชียงแสนจึงมีลีลาท่ารำ และกระบวนเพลงแบบสำเนียงไทยภาคเหนือ ลาว และแบบไทยภาตะวันออกเฉียงเหนือปนอยู่ด้วย

      ระบำเชียงแสน จัดแสดงครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2510 และภายหลังได้นำออกแสดงในโรงละครแห่งชาติ และที่อื่นๆ เพื่อให้ประชาชนชม

       นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปีพุทธศักราช 2528 เป็นผู้แต่งทำนองเพลง

       นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ปีพุทธศักราช 2530 เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ

       นายสนิท ดิษฐพันธ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นางชนานันท์ ช่างเรียน สร้างเครื่องแต่งกาย นายชิต แก้วดวงใหญ่ สร้างศิราภรณ์ และเครื่องประดับ

                                   5.ระบำสุโขทัย                                

 ความเป็นมา                                                                     

อยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 – 20

ระบำสุโขทัย เป็นระบำชุดที่ 5 

นับเป็นยุคสมัยที่ชนชาติไทย เริ่มสร้างสรรค์ศิลปะด้านนาฏศิลป์ และดนตรีในเป็นสมบัติประจำชาติ โดยอาศัยหลักฐานอ้างอิงที่กล่าวไว้ในเอกสาร และหลักศิลาจารึก ประกอบศิลปกรรมอื่น ๆ การแต่งทำนอง กระบวนท่ารำ และเครื่องแต่งกาย ประดิษฐ์ขึ้นให้มีลักษณะที่อ่อนช้อยงดงาม ตามแบบอย่างของศิลปะสมัยสุโขทัย

       ระบำชุดสุโขทัย จัดแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2510 และภายหลังได้นำออกแสดง ในโรงละครแห่งชาติ และที่อื่นๆ เพื่อให้ประชาชนชม

       นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปีพุทธศักราช 2528  เป็นผู้แต่งทำนองเพลง โดยนำทำนองเพลงเก่าของสุโขทัยมาดัดแปลง

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาจาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) ปีพุทธศักราช 2528 เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ

       นายสนิท ดิษฐพันธ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นางชนานันท์ ช่างเรียน สร้างเครื่องแต่งกาย นายชิต แก้วดวงใหญ่ สร้างศิราภรณ์ และเครื่องประดับ