กิ่งไม้เงินทอง
รำกิ่งไม้เงินทอง
( ที่มาของภาพ : กองการสังคีต กรมศิลปากร )
รูปแบบ และลักษณะการแสดง
รำกิ่งไม้เงินทอง เป็นการแสดงเบิกโรงของละครใน ที่มีรูปแบบ และลักษณะการแสดง ตลอดจนกระบวนท่ารำที่มีเอกภาพชุดหนึ่ง นับได้ว่าเป็นพระอัจฉริยภาพของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ที่ทรงพระราชนิพนธ์บาทขับร้อง ประกอบกับรูปแบบ และลักษณะการแสดง และความสามารถของบรมครูทางด้านนาฏศิลป์ไทยที่ร่วมกันประดิษฐ์ รังสรรค์ กระบวนท่ารำขึ้น เพื่อสืบสาน และสืบทอดศิลปะที่แสดงเอกลักษณ์ ความเป็นอารยธรรมของไทย มาจนทุกวันนี้
ลักษณะการแสดงเป็นศิลปะการรำคู่ ของผู้แสดงฝ่ายพระ ซึ่งมีกระบวนท่างดงาม มีอุปกรณ์ประกอบการแสดง ได้แก่ ดอกไม้เงิน และดอกไม้ทอง โดยมือขวาจะถือดอกไม้ทอง และมือซ้ายจะถือดอกไม้เงิน ผู้แสดงจะต้องมีฝีมือในการรำ ตลอดจนได้รับการฝึกจนเกิดความชำนาญ และความสอดคล้องประสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้จึงมักใช้ผู้แสดงตัวนายโรงของละครในเป็นผู้รำเบิกโรงกิ่งไม้เงินทองมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ
นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์
นางศิริวัฒน์ ดิษยนันทน์
นางอิงอร ศรีสัตตบุษย์
นางพัชรา บัวทอง
นางสาววันทนีย์ ม่วงบุญ
นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย
และนางกาญจนา ขาวรุ่งเรือง ฯ
การรำแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 รำออกตามทำนองเพลงโคมเวียน
ขั้นตอนที่ 2 รำตีบทตามบทร้องเพลงโคมเวียน
ขั้นตอนที่ 3 รำตามทำนองเพลง จนจบกระบวนท่ารำ แล้วรำเข้า
ดนตรี และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง
ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง เพลงโคมเวียน เพลงเชิดฉิ่ง และเพลงเชิดจีนตัวสาม
เครื่องแต่งกาย
ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่องพระแขนยาว ชฎายอดชัย อุปกรณ์ประกอบการแสดง คือ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง
บทร้องรำกิ่งไม้เงินทอง
- ปี่พาทย์โคมเวียน – รัว-
-ร้องเพลงเชิดฉิ่ง -
เมื่อนั้น ไทท้าวเทพบุตรบุรุษสอง
สองมือถือดอกไม้เงินทอง ป้องหน้าออกมาว่าจะรำ
เบิกโรงละครในให้ประหลาด มีวิลาศน่าชมคมขำ
ท่าก็งามตามตามครูดูแม่นยำ เป็นแต่ทำอย่างใหม่มิใช่ฟ้อน
หางนกยูงอย่างเก่าเขาเล่นมาก ไม่เห็นหลากจืดตามาแต่ก่อน
คงแต่ท่าไว้ให้งามตามละคร ที่แต่งตนก้อนไม่งอนตามโบราณ
รำไปให้เห็นเป็นเกียรติยศ ปรากฏทุกตำแหน่งแหล่งสถาน
ว่าพวกฟ้อนฝ่ายในใช้ราชการ สำหรับพระภูบาลสำราญรมย์
ย่อมช่วงใช้ดอกไม้เงินทอง ไม่เหมือนของเขาอื่นมีดื่นถม
ถึงผิดอย่างไปใครจะไม่ชม ก็ควรนิยมว่าเป็นมงคล เอย” - ปี่พาทย์รับเพลงเชิดจีนตัวสาม –
วีดีทัศน์ประกอบการแสดง
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=vDMHeEI6DNk
รำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง
ความเป็นมา
ฉุยฉายกิ่งไม้เงินทองเป็นการรำเบิกโรงของตัวนาง ที่จะแสดงต่อจากการรำเบิกโรงกิ่งไม้เงินทองของตัวพระ เพื่อแสดงความงามของท่ารำแบบละครในทั้งตัวพระและตัวนาง โดยดัดแปลงมาจากการรำเบิกโรงประเลงแต่โบราณที่ผู้แสดงถือหางนกยูงออกมาร่ายรำ
ชุดฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง (ฉบับเต็ม) เป็นการแสดงประเภทเบิกโรง ด้วยการรำก่อนการแสดงละครใน โดยผู้แสดงตัวนาง 2 คน ถือกิ่งไม้เงินทองออกมาร่ายรำตามบทร้องที่มีความหมายถึง การเชิดชูพระเกียรติพระมหากษัตริย์และเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลต่อการแสดง
ความเป็นมาของการรำเบิกโรง ชุดฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง (ฉบับเต็ม) ตามหลักฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องที่มีความยาวถึง 7 บท มีพระราชประสงค์ให้นำกิ่งไม้เงินทองที่ประเทศราชถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการมาใช้ประกอบการร่ายรำตามบทร้องที่ทรงพระราชนิพนธ์ แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏท่ารำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง (ฉบับเต็ม) คงพบเห็นแต่ท่ารำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง (ฉบับตัด) ที่ตัดทอนบทให้สั้นลงเหลือ 3 บท
ความสำคัญของการรำเบิกโรงชุดนี้ คือ ผู้แสดง การแต่งกาย อุปกรณ์ และกระบวนท่ารำงดงามตามแบบแผนอย่างละครใน
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ
อาจารย์เฉลย ศุขะวณิช เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำและถ่ายทอดท่ารำเพลงฉุยฉายชุดนี้ จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย
การแต่งกาย
ผู้รำแต่งกายยืนเครื่องนาง 2 คน ตัวละครฝ่ายนางถือกิ่งไม้เงินทอง มือข้างขวากำกิ่งไม้ทอง ส่วนมือข้างซ้ายกำกิ่งไม้เงิน ในบท "สองนางเนื้อเหลือง" ฉบับเจ้าจอมละม้าย รำไปตามบทขับร้องและทำนองเพลงฉุยฉาย การรำจะมีอิริยาบถที่งดงาม ทั้งอิริยาบถของการเคลื่อนไหว มือ แขน ขา ใบหน้าและลำตัวที่สวยงาม มีจังหวะท่ารำที่เหมาะเจาะเข้ากับจังหวะของเพลง เพลงที่ใช้เป็นฉุยฉายพวง คือ ร้องรวบความจนจบท่อน โดยไม่มีปี่เป่ารับ นับเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ
วิดีทัศน์ประกอบการแสดง
ที่มา : http://youtube.com/watch?v=c2v6uW5PEEw
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=9y5eYUQcmsw