การฝึกหัดโขน
หลักและวิธีการฝึกหัดโขน
การฝึกหัดเบื้องต้น หมายถึง ท่าปฏิบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะฝึกหัดโขนทุกประเภท เพื่อเตรียมร่างกายให้เกิดความพร้อมในการฝึกหัดขั้นต่อไป ในการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้นนั้นมีแบบแผนและวิธีฝึกหัดอันเป็นศิลปะที่ประณีตและมีหลักวิชาโดยเฉพาะทั้งในเรื่องของจังหวะ การเคลื่อนไหวอวัยวะ และการสร้างร่างกายให้แข็งแรง การฝึกหัดเบื้องต้นเริ่มมีมาตั้งแต่การฝึกหัดโขนและละครหลวง ซึ่งมีหลักการฝึกหัดคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันที่วิธีฝึกหัด ลีลาท่าทางที่แบ่งเป็น ฝ่ายพระ, นาง, ยักษ์, และลิง
หลักการคัดเลือกผู้เรียน
นักเรียนที่จะเข้ารับการฝึกหัดโขนนั้น เป็นนักเรียนชายด้วยเป็นประเพณีมาแต่โบราณ ว่า พวกโขนต้องเป็นชาย ผู้ที่เข้ารับการฝึกหัดโขนควรจะได้เริ่มหัดกันมาตั้งแต่เยาว์วัยราวอายุ 8-12 ขวบ จึงจะฝึกหัดได้ดี ถ้าเด็กมีอายุมากเสียแล้วก็หัดได้ยาก นอกจากจะมีอุปนิสัยมาแต่เดิม เด็กชายที่จะฝึกหัดโขนนั้น ในชั้นต้นครูผู้ใหญ่จะต้องพิจารณาคัดเลือกออกเป็น 4 พวกคือ
1) ตัวพระ
2) ตัวนาง
3) ตัวยักษ์
4) ตัวลิง
ซึ่งมีรายละเอียดและลักษณะของการพิจารณาคัดเลือกดังนี้
ตัวพระ คัดเลือกผู้มีลักษณะ คือ รูปหน้าสวย จมูกสัน ลำคอโปร่งระหง ช่วงแขนและช่วงขาสมส่วน รวมความว่า ตัวพระนั้นคัดเลือกจากผู้ที่มีทรวดทรงสัณฐานงามสมส่วน ใบหน้ารูปไข หน้าตาคมคายท่าทางสะโอดสะองผึ่งผาย ตามแบบของชายงามในวรรณคดีไทย
ตัวนาง คัดเลือกผู้มีลักษณะ คือ เลือกจากผู้ที่มีรูปร่างคล้ายตัวพระ แต่ไม่สู้พิถีพิถันนัก สิ่งสำคัญอยู่ที่เลือกคนที่มีใบหน้างามและดูที่มีกิริยาท่าทางแช่มช้อยนิ่มนวลอย่างกิริยาหญิง
ตัวยักษ์ คัดเลือกผู้มีลักษณะ คือเลือกจากผู้ที่มีรูปร่างคล้ายตัวพระ แต่ไม่ต้องเลือกหน้าตา เลือกเอาผู้ที่มีร่างใหญ่ท่าทางแข็งแรง
ตัวลิง คัดเลือกผู้มีลักษณะ คือ เลือกจากผู้ที่มีรูปร่างป้อม ๆ ท่าทางหลุกหลิกคล่องแคล่ว
ครั้นครูคัดเลือกศิษย์ไว้แล้ว ถึงวันพฤหัสบดี ซึ่งนับถือกันว่าเป็นวันครู ก็ทำพิธีมอบตัวให้ครู ศิษย์จะต้องมีดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องสักการะอย่างสังเขป แล้วพร้อมกันเข้าไปเคารพครูผู้ใหญ่ มอบดอกไม้ธูปเทียนให้ท่าน สมมติว่าดอกไม้ธูปเทียนนั้น คือตัวของศิษย์เอง ขอมอบให้ สุดแต่ท่านจะจัดฝึกฝนอบรมอย่างไร เมื่อครูผู้ใหญ่รับธูปเทียนดอกไม้ไว้แล้ว ก็นำไปสู่ที่สักการะ ทำความเคารพบูชาอุทิศถึงครูบาอาจารย์ของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้วอีกต่อหนึ่ง แล้วก็เริ่มจับท่ามาจับท่าให้บรรดาศิษย์เป็นปฐมฤกษ์ ต่อนั้นไปก็มอบบรรดาศิษย์แจกจ่ายให้ครูผู้ช่วยรับไปฝึกหัดกันแต่ละฝ่าย ตัวพระก็มอบให้ครูพระรับไปฝึกหัด ตัวนางก็มอบให้ครูนางรับไปฝึกหัด ตัวยักษ์ก็มอบให้ครูยักษ์รับไปฝึกหัด ตัวลิงก็มอบให้ครูลิงรับไปฝึกหัด ซึ่งเน้นความหนักเบาในการฝึกหัดแตกต่างกันออกไป แต่หลักใหญ่ในการฝึกหัดเบื้องต้นที่ตรงกัน มีอยู่ 4-5 ประการ
หลักการฝึกหัดเบื้องต้น ประกอบด้วย
1) ตบเข่า
2) ถองสะเอว
3) เต้นเสา
4) ถีบเหลี่ยม
5) ฉีกขา
6) หกคะเมน
วิธีการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้น มีดังนี้
1) ตบเข่า
เป็นการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้นลำดับแรก ซึ่งเป็นการฝึกให้นักเรียนเริ่มรู้จักจังหวะดนตรี รู้จักใช้โสตประสาทฟังท่วงทำนองเพลงและจังหวะได้แม่นยำถูกต้อง สามารถแยกแยะเสียง และมีความเคยชินกับจังหวะ จังหวะถือเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติท่าเต้นโขน
หมายเหตุ จังหวะในการปฏิบัติท่าเต้นโขนแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ
1. จังหวะเปิด มีลักษณะการปฏิบัติท่าติดต่อกันในคราวเดียว
2. จังหวะปิด มีลักษณะการปฏิบัติท่าทีละจังหวะช้า ๆ จนครบท่า
วิธีการปฏิบัติท่าตบเข่า
ท่าเตรียม ครูให้ผู้ฝึกจะให้นักเรียนนั่งพับเพียบเข้าแถวกันบนพื้นราบตั้งลำตัวและส่วนศีรษะตรง อย่างที่เรียนว่า อกผายไหลผึ่ง เปิดปลายคางตามองตรงไปข้างหน้า แบฝ่ามือทั้งสองข้างวางคว่ำลงบนเข่า เมื่อนักเรียน ทั้งหมดอยู่ในท่าเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มการปฏิบัติโดยแบ่งการปฏิบัติเป็นจังหวะ3 จังหวะ ดังนี้
จังหวะที่ 1 นักเรียนยกฝ่ามือขวาขึ้น (ตามลักษณะของมนุษย์โดยธรรมชาติจะถนัดมือขวาครูโบราณจึงกำหนดให้ยกมือ ขวาเป็นลำดับแรก) มือขวาที่ยกขึ้นอยู่ในระดับหน้าอก แขนงอทำมุมฉาก 90 องศา กับลำตัว ตบฝ่ามือ ขวาลงไปบนเข่าขวา พร้อมกับยกฝ่ามือซ้ายขึ้นอยู่ในระดับหน้าอก แขนงอทำมุมฉาก 90องศากับลำตัว นับ 1
จังหวะที่ 2 ตบฝ่ามือซ้ายลงไปบนเข่าซ้าย พร้อมกับยกฝ่ามือขวาขึ้นอยู่ในระดับหน้าอกแขนงอทำมุมฉาก 90 องศา กับ ลำตัวนับ 2
จังหวะที่ 3 ตบฝ่ามือขวาลงไปบนเข่าขวา พร้อมกับยกฝ่ามือซ้ายขึ้นอยู่ในระดับหน้าอก แขนงอทำมุมฉาก 90 องศา กับ ลำตัวนับ 3 เมื่อนักเรียนปฏิบัติจนครบแล้วให้เริ่มต้นใหม่ตามจังหวะไม้เคาะ ซึ่งครูผู้สอนจะเคาะไม้กรับเป็น สัญญาณ 1 ครั้ง นักเรียนปฏิบัติ 1 จังหวะ สลับกันไปอย่างนี้จนกว่าจะพรั่งพร้อมและมีจังหวัดสม่ำเสมอ ลักษณะการปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่า ปิดจังหวะหรือจังหวะปิด หากครูเคาะไม้กรับเป็นสัญญาณ 2 ครั้งติดต่อกัน ให้นักเรียนปฏิบัติท่าตบเข่า 3 จังหวะติดต่อกันในคราวเดียวและนับ 1,2,3 ติดต่อกันในคราวเดียวด้วย การ ปฏิบัติท่าตบเข่าในลักษณะนี้ เรียกว่า เปิดจังหวะหรือจังหวะเปิด
ในบางกรณีครูอาจจัดให้นักเรียนนั่งสองแถวหันหน้าเข้าหากันให้ตบเข่าแข่งกัน เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความสนุกสนานในการฝึกหัด นักเรียนจะได้ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องทรมารหรือเจ็บปวดร่างกาย และเหนื่อย การตบเข่านักเรียนต้องฝึกหัดเป็นเวลานาน ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง พักแล้วกลับมาฝึกหัดอีกจนมีความชำนาญคล่องแคล่ว และสามารถจดจำจังหวะได้ดี
2) ถองสะเอว
เป็นการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้นลำดับที่ 2 ต่อจากท่าตบเข่า เป็นวิธีการฝึกหัดให้นักเรียนเริ่มรู้จักวิธีการยักเยื้องลำตัว ยักคอ ยักไหล่ และใบหน้าได้คล่องแคล่ว ซึ่งจะทำให้อวัยวะของร่างกายตั้งแต่เอวจนถึงศีรษะมีความอ่อนไหว ได้สัดส่วนงดงาม เป็นไปตามลักษณะที่ต้องการได้
วิธีการปฏิบัติท่าถองสะเอว
ท่าเตรียม ครูให้ผู้ฝึกจะให้นักเรียนนั่งพับเพียบเข้าแถวกันบนพื้นราบตั้งลำตัวและส่วนศรีษะตรง อย่างที่เรียนว่า อกผายไหลผึ่ง เปิดปลายคางตามองตรงไปข้างหน้า แบฝ่ามือทั้งสองข้างวางคว่ำลงบนเข่า เมื่อนักเรียนทั้งหมดอยู่ในท่าเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มการปฏิบัติ ดังนี้
ครูให้จังหวะไม้กรับ นักเรียนยกแขนทั้งสองขึ้นข้างลำตัวระดับเอว งอข้อศอกให้ศอกห่างจากสีข้างประมาณหนึ่งฝ่ามือ หงายท้องแขน กำมือหลวม ๆ พร้อมทั้งหักข้อมือเข้าหาลำตัว ต่อจากนั้นจึงการถองสะเอว โดยเริ่มจากกระแทกศอกขวาเข้ากับสะเอวขวา พร้อมกับยักคอเบนศีรษะไปทางบ่าซ้ายมือซ้ายยื่นออกจากลำตัว ต่อจากนั้นให้กระแทกศอกซ้ายเข้ากับสะเอวซ้าย พร้อมกับยักคอเบนศีรษะไปทางบ่าขวา มือขวายื่นออกจากลำตัว ทำดังนี้สลับกันไปจนนักเรียนเกิดความคล่องแคล่ว สามารถยักเยื้องลำตัวและศีรษะได้ดีถูกต้องตามแบบแผนปฏิบัติ
3) เต้นเสา
เป็นการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้นลำดับที่ 3 ต่อจากท่าถองสะเอว เป็นวิธีการฝึกหัดให้นักเรียนเริ่มรู้จักใช้อวัยวะส่วนขาและเท้าให้แข็งแรง กำลังอยู่ตัวและคงที่ นอกจากนี้ยังฝึกหัดให้ผู้เรียนรู้จักน้ำหนักของฝ่าเท้า และใช้จังหวะเท้าในการเต้นให้สม่ำเสมอกัน
วิธีการปฏิบัติท่าเต้นเสา
ท่าเตรียม ครูให้ผู้ฝึกจะให้นักเรียนนั่งพับเพียบเข้าแถวกันบนพื้นราบตั้งลำตัวและส่วนศรีษะตรง อย่างที่เรียนว่า อกผายไหลผึ่ง เปิดปลายคางตามองตรงไปข้างหน้า แบฝ่ามือทั้งสองข้างวางคว่ำลงบนเข่า ครูให้จังหวะเพื่อให้นักเรียนลุกขึ้นยืนเข้าแถวหันหน้าไปตามทิศเดียวกัน ผู้ที่อยู่หัวแถวยืนหันหน้าตรงกับต้นเสาต้นใดต้นหนึ่ง คนหลัง ๆ ยืนเข้าแถวต่อตรงกับคนหน้า เว้นระยะห่างกันราวหนึ่งศอก ผู้ที่อยู่หัวแถวใช้มือแตะกับต้นเสาทั้ง 2 มือ ทาบฝ่ามือไว้ที่เสา น้ำหนักอยู่ที่มือตอนปลาย คนหลัง ๆ ใช้มือทั้งสองแตะที่สะเอวของคนหน้า ต่อกันไปเป็นแถวตรง ต่อจากนั้นครูเคาะจังหวะให้นักเรียนย่อขากันเข่าทั้งสองข้างออกไปทางซ้ายและทางขวาให้ได้ฉาก (เหลี่ยม) เมื่อนักเรียนทั้งหมดอยู่ในท่าเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มการปฏิบัติโดยครูเคาะจังหวะให้นักเรียนปฏิบัติในท่าที่เรียกว่า “ตะลึกตึก” ก่อน
หมายเหตุ “ตะลึกตึก” มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
จังหวะที่ 1 ยกเท้าขวาหนีบหน่องมากระทืบชิดส้นเท้าซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้นติด นับ 1
จังหวะที่ 2 กระทืบเท้าซ้ายชิดส้นเท้าขวา ยกเท้าขวาขึ้น นับ 2
จังหวะที่ 3 กระทืบเท้าขวาชิดส้นเท้าซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้น นับ 3
เมื่อนักเรียนปฏิบัติท่าตำลึกตึกแล้วยกเท้าซ้ายขึ้นรอไว้ ครูเคาะจังหวะให้นักเรียนกระทืบเท้าลงบนพื้นให้พอดีกับจังหวะ (จังหวะที่ 2 ) แล้วเปลี่ยนยกขาขวาขึ้นกระทืบเท้าขวาลงบนพื้น แล้วเปลี่ยนยกขาซ้ายกระทืบลงบนพื้น ปฏิบัติดังนี้สลับกันพร้อมทั้งนับจังหวะ 1-2-3 ไปด้วย
4) ถีบเหลี่ยม
เป็นการบังคับและควบคุมอวัยวะร่างกายให้อยู่ในท่าที่ต้องการ ทั้งยังได้ช่วงขา ช่วงแขนและอกมีระดับคงที่
วิธีการปฏิบัติท่าถีบเหลี่ยม
ท่าเตรียม ครูให้นักเรียนยืนหันหลังแนบชิดติดกับเสาหรือฝาผนัง แล้วให้นักเรียนย่อขาและกันเข่าทั้งสองข้างออกไป จนส่วนโค้งของเข่าเป็นมุมฉาก (เหลี่ยม) ครูนั่งลงกับพื้นยกเท้าทั้งสองข้างใช้ฝ่าเท้ายันที่หน้าขาของนักเรียนตรงหัวเข่าด้านใน แล้วค่อย ๆ โน้มถีบเข่าของนักเรียนแยกออกไปทางเบื้องหลังทีละน้อย ๆ จนเข่าของนักเรียนเป็นเส้นขนานกับแนวไหล่ของนักเรียน
ข้อควรระวัง ในการปฏิบัติท่าถีบเหลี่ยมเป็นท่าปฏิบัติที่ครูต้องกระทำให้กับนักเรียน กล่าวคือ นักเรียนไม่สามารถนำไปปฏิบัติเองตามลำพังหรือจะให้เพื่อนนักเรียนกระทำให้มิได้ เนื่องจากหากกระทำผิดวิธีจะทำให้ได้รับอันตรายได้
5) ฉีกขา
ใช้สำหรับนักเรียนที่ฝึกหัดเป็นตัวลิงโดยเฉพาะ วิธีฉีกขาจะช่วยให้สามารถใช้ลำขาได้ตามต้องการ และทำให้นักเรียนยืนหรือย่อเหลี่ยมได้อย่างมีส่วนสัดงดงาม
วิธีการปฏิบัติท่าฉีกขา
ท่าเตรียม ครูให้นักเรียนยืนหันหลังแนบชิดติดกับเสาหรือฝาผนังเช่นเดียวกับท่าถีบเหลี่ยมครูนั่งลงกับพื้น แล้วให้นักเรียนค่อยเลื่อนตัวลงมาจนถึงพื้น โดยขาทั้งสองข้างเหยียดตรงออกด้านข้าง เมื่อนักเรียนลงนั่งกับพื้นแล้วครูใช้ฝ่าเท้าทั้งสองข้างยันที่หน้าขาของนักเรียนตรงหัวเข่าด้านใน แล้วค่อย ๆ โน้มถีบเข่าของนักเรียนแยกออกไปทางเบื้องหลังทีละน้อย ๆ จนเข่าของนักเรียนเป็นเส้นขนานกับแนวไหล่ของนักเรียน ดังภาพ
ข้อควรระวัง ในการปฏิบัติท่าฉีกขา เป็นท่าปฏิบัติที่ครูต้องกระทำให้กับนักเรียน กล่าวคือ นักเรียนไม่สามารถนำไปปฏิบัติเองตามลำพังหรือจะให้เพื่อนนักเรียนกระทำให้มิได้ จนกว่านักเรียนจะสามารถบังคับและควบคุมอวัยวะได้เอง เนื่องจากหากกระทำผิดวิธีจะทำให้ได้รับอันตรายได้
6) หกคะเมน
ใช้สำหรับนักเรียนที่ฝึกหัดเป็นตัวลิงเช่นกัน เป็นท่าโลดโผนสำหรับการแสดงออกตามลักษณะที่เป็นธรรมชาติของลิง
วิธีการปฏิบัติท่าหกคะเมน
ครูให้นักเรียนยืนในท่าตรง ใช้ฝ่ามือทั้งสองของตนยันกับพื้น ต่อจากนั้นจึงค่อยยกเท้าทั้งสองขึ้นไปในอากาศ แล้วหกเท้าลงข้างหลังหรือข้างหน้า
ท่าหกคะเมนมีชื่อเรียกต่างกัน ดังนี้
หกคะเมนหงายไปข้างหลัง เรียกว่า “ตีลังกาหกม้วน”
หกคะเมนไปข้างหน้า เรียกว่า “อันธพา”
หกคะเมนไปข้าง ๆ เรียกว่า “พาสุริน”
ข้อควรระวัง ในการปฏิบัติท่าหกคะเมน ในช่วงแรก ๆ ของการปฏิบัติควรอยู่ในความดูแลของครูอย่างใกล้ชิด นักเรียนจะนำไปปฏิบัติเองตามลำพังหรือจะให้เพื่อนนักเรียนกระทำให้มิได้ จนกว่านักเรียนจะสามารถบังคับและควบคุมอวัยวะได้เอง เนื่องจากหากกระทำผิดวิธีหรือขาดความระมัดระวังจะทำให้ได้รับอันตรายได้