รำวงมาตรฐาน

 ประวัติความเป็นมารำวงมาตรฐาน

รำวงมาตรฐาน          

       เป็นการแสดงที่มีวิวัฒนาการมาจาก “รำโทน”  เป็นการรำและร้องของชาวบ้าน ซึ่งจะมีผู้ชายและผู้หญิง รำกันเป็นคู่ๆ รอบๆ ครกตำข้าว     ที่วางคว่ำไว้ หรือไม่ก็รำกันเป็นวงกลม โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำ และการร้องเป็นไปตามความถนัดไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ 

     ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484 – 2488 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่       8 ธันวาคม 2484  เพื่อเจรจาขอตั้งกองทัพในประเทศไทย   โดยใช้เส้นทางต่างๆ  ในแผ่นดินไทย ลำเรียงเสบียงอาหาร อาวุธและกำลังพล             เพื่อใช้ในการต่อสู้กับประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมี จอมพล ป (แปลก) พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจยอมให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพราะเกรงว่าหากปฏิเสธคงจะถูกปราบปรามแน่  ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบจากการรุกรานของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ส่งกองทัพเข้ามาโจมตีฐานทัพญี่ปุ่นทางอากาศโดยเฉพาะในยามที่เป็นคืนเดือนหงาย จะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ได้ง่าย ข้าศึกมักจะเข้ามาโจมตีอย่างหนักด้วยการทิ้งระเบิด ซึ่งสร้างความเสียหายทำลายชีวิตและทรัพย์สินบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ใกล้กับฐานทัพญี่ปุ่น

   เมื่อช่วงคืนเดือนหงายผ่านไป คืนเดือนมืดเข้ามา ข้าศึกจะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจนจึงพักการรุกราน   ประชาชนชาวไทย ได้รับความเดือนร้อน ต่างอยู่ในสถานการณ์ที่หวาดกลัวเป็นอย่างมาก จึงได้หาวิธีการผ่อนคลายความตึงเครียด ความหวาดผวา ด้วยการนำศิลปะพื้นบ้านที่ซบเซาไป กลับมาร้องรำทำเพลง นั้นก็คือ “การเล่นรำโทน” คำร้อง ทำนองและการแต่งกาย ก็ยังคงเรียบง่ายเน้นความสะดวกสบาย   สนุกสนาน เช่นเดิม เพลงที่นิยมได้แก่ เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด ช่อมาลี   ตามองตา   ยวนยาเหล เป็นต้น

                                         

          ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2487 รัฐบาลได้เล็งเห็นศิลปะพื้นบ้านอันสวยงามของไทยที่มีอยู่อย่างแพร่หลายควรที่จะเชิดชูให้มีระเบียบแบบแผนตามแบบนาฏศิลป์ไทย เพราะหากชาวต่างชาติมาพบเห็นจะตำหนิได้ว่าศิลปะการฟ้อนรำของไทยนี้มิได้มีความสวยงาม ประณีตแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีศิลปะที่แสดงออกว่าเป็นชาติ ที่มีวัฒนธรรม จึงได้มอบให้ กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงและพัฒนาการรำ (รำโทน) ขึ้นใหม่ให้มีระเบียบ แบบแผน มีความงดงามมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเนื้อร้อง ทำนองเพลง และนำท่ารำจากแม่บทกำหนดเป็นท่ารำเฉพาะแต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน

           รำวงมาตรฐาน ประกอบด้วยเพลงทั้งหมด 10 เพลง 

                               กรมศิลปากรแต่งเนื้อร้องจำนวน 4 เพลงคือ  

                                       1.เพลงงามแสงเดือน  (เพลงที่ 1)

                                       2.เพลงชาวไทย  (เพลงที่ 2)

                                       3.เพลงรำมาซิมารำ (เพลงที่ 3)

                                       4.เพลงคืนเดือนหงาย (เพลงที่ 4)

                                 ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม แต่งเนื้อร้องเพิ่มอีก 6 เพลงคือ

                                       1. เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ  (เพลงที่ 5)

                                       2.เพลงดอกไม้ของชาติ  (เพลงที่ 6)

                                       3. เพลงหญิงไทยใจงาม  (เพลงที่ 7)

                                       4. เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า (เพลงที่ 8)

                                       5.เพลงยอดชายใจหาญ  (เพลงที่ 9)

                                       6.เพลงบูชานักรบ  (เพลงที่ 10)

        ส่วนทำนองเพล ทั้ง 10 เพลง กรมศิลปกรและกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้แต่ง  เมื่อปรับปรุงแบบแผนการเล่นรำโทนให้มีมาตรฐานและมีความเหมาะสม จึงมีการเปลี่ยนชื่อจากรำโทนเป็น “รำวงมาตรฐาน” อันมีลักษณะการแสดงที่เป็นการรำร่วมกันระหว่างชาย-หญิง เป็นคู่ๆ เคลื่อนย้ายเวียนเป็นวงกลม (ทวนเข็มนาฬิกา) มีเนื้อร้องที่แต่งทำนองขึ้นใหม่ มีการใช้ทั้งวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ และบางเพลงก็ใช้ วงดนตรีสากลบรรเลงประกอบ ซึ่งเนื้อร้องที่แต่งขึ้นใหม่ทั้ง 10 เพลง มีท่ารำที่กำหนดไว้เป็นแบบแผน คือ

  ผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำ    

          เพลงรำวงมาตรฐานทั้ง 10 เพลงนั้นคือคณะอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรได้ช่วยกันคิดประดิษฐ์ท่ารำให้งดงามถูกต้องตามหลักนาฏศิลป์กำหนดให้เป็นแบบมาตรฐาน ผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำของรำวงมาตรฐาน คือ

                                  1.หม่อมต่วน (นางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก) 

                                  2.ครูมัลลี คงประภัศร์ 

                                  3.ครูลมุล ยมะคุปต์ 

                                  4 ครูผัน โมรากุล    

                ต่อมาได้มีการนำรำวงนี้ไปสลับกับวงลีลาศ ทำให้ชาวต่างประเทศรู้จักรำวง เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้เล่นกันแพร่หลาย และมีแบบแผนอันเดียวกัน กรมศิลปากรจึงเรียกว่า“รำวงมาตรฐาน”  การแสดงรำวงมาตรฐาน  มีผู้แสดงครั้งแรก  ดังนี้

                                

                                        นายอาคม    สายาคม                       นางสุวรรณี   ชลานุเคราะห์

                                        นายจำนง   พรพิสุทธิ์                       นางศิริวัฒน์   ดิษยนันทน์

                                                     นายธีรยุทธ   ยวงศรี                         นางสาวสุนันทา   บุณยเกตุ

รูปแบบและลักษณะการแสดงรำวงมาตรฐาน

         รำวงมาตรฐานเป็นการรำคู่ ในลักษณะรูปแบบการแสดงหมู่ แสดงเป็นคู่ชาย-หญิง จำนวน 4 หรือ 5 คู่

ซึ่งมีท่ารำขึ้นจากท่ารำมาตรฐานในเพลงแม่บท จำนวน 14 ท่ารำ ความงามของการรำอยู่ที่กระบวนท่ารำที่มีเอกลักษณะในแต่ละเพลง รวมทั้งรูปแบบการแสดงในลักษณะการแปลแถวเป็นวงกลม (แบบทวนเข็มนาฬิกา)

         ขั้นตอนการรำ ประกอบด้วย 

                  1. ผู้แสดงชายและหญิงเดินออกมาเป็นแถวตรงสองแถว หันหน้าเข้าหากัน ต่างฝ่ายทำความเคารพด้วยการไหว้

                  2. รำแปลแถวเป็นวงกลม  (แบบทวนเข็มนาฬิกา)  ตามทำนองเพลงและรำตามบทร้อง โดยในที่นี้ตัวอย่าง

                      เป็นเพลงรำมาซิมารำ ดังนั้น ท่ารำที่ใช้ในการรำจึงเป็น "ท่ารำส่าย" โดยรำไปตามเพลง

                  3. เมื่อรำจบบทร้องในเพลงบูชานักรบ ผู้แสดงรำเข้าเวที หรือ หันหน้าเข้าหาคู่ทำความเคารพด้วยการไหว้ ก่อนออกจากวง

ลักษณะการแต่งกายรำวงมาตรฐาน

         การแต่งกายรำวงมาตรฐานแต่งได้ 4 แบบ คือ

                     1.แบบพื้นบ้าน

                                

                     2.แบบไทยพระราชนิยม

                     3.แบบสากลนิยม

                     4.แบบราตรีสโมสร

เพลงรำวงมาตรฐาน 10 เพลง

   

          1.เพลงงามแสงเดือน (Ngam Sang Duan) 

                         คำร้อง      จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากอง  การสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร) 

                                         ทำนอง อาจารย์มนตรี ตราโมท     

           

                         ความหมายเพลง    ยามที่แสงจันทร์ส่องมายังโลกทำให้โลกนี้    ดูสวยงาม ผู้คนที่มาเล่นรำวงยามที่แสงจันทร์ส่อง 

                                                      ก็มีความงดงามด้วย การรำวงนี้เพื่อให้มีความสนุกสนาน มีความสามัคคีกัน และละทิ้งความทุกข์ให้หมดสิ้นไป

                                                                                                    

                                                                                                              เนื้อเพลง

                             งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า                        งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ (ซ้ำ)

                             เราเล่นเพื่อสนุก                                                            เปลื้องทุกข์วายระกำ

                             ขอให้เล่นฟ้อนรำ                                                          เพื่อสามัคคีเอย

         

ท่ารำ  ท่าสอดสร้อยมาลา 

                                 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

2.เพลงชาวไทย (Chaw Thai) 

                    คำร้อง     จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร) 

                         ทำนอง อาจารย์มนตรี ตราโมท 

                       

                    ความหมายเพลง   หน้าที่ที่ชาวไทยพึงมีต่อประเทศชาตินั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำ อย่าได้ละเลยไปเสีย ในการที่เราได้มาเล่นรำวง                                                    กันอย่างสนุกสนาน ปราศจากทุกข์โศกทั้งปวงนี้ก็เพราะว่าประเทศไทยเรามีเอกราช ประชาชนมีเสรีในการคิดจะทำสิ่ง                                                       ใดๆ ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันเชิดชูชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป   เพื่อความสุขยิ่งๆ ขึ้นของไทยเราตลอดไป

                                                     

                                                              เนื้อเพลง

                      

                                ชาวไทยเจ้าเอ๋ย                     ขออย่าละเลยในการทำหน้าที่

                                 การที่เราได้เล่นสนุก                           เปลื้องทุกข์สบายอย่างนี้

                                 เพราะชาติเราได้เสรี                           มีเอกราชสมบูรณ์

                                 เราจึงควรช่วยชูชาติ                            ให้เก่งกาจเจิดจำรูญ

                                 เพื่อความสุขเพิ่มพูน                            ของชาวไทยเราเอย

ท่ารำ  ท่าชักแป้งผัดหน้า 

    

                

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

3.เพลงรำซิมารำ (Ram ma si ma ram) 

            คำร้อง    จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร) 

                             ทำนอง อาจารย์มนตรี ตราโม 

              

           ความหมายเพลง  ขอพวกเรามาเล่นรำวงกันให้สนุกสนานเถิดในยามว่างเช่นนี้จะได้คลายทุกข์ ถึงเวลางานเราก็จะทำงานกันจริงๆ เพื่อจะได้                                             ไม่ลำบาก และการรำก็จะรำอย่างมีระเบียบแบบแผน ตามวัฒนธรรมไทยของเราแล้วจะดูงดงามยิ่ง

                                                 

                                                                              เนื้อเพลง

                                                                 รำมาซิมารำ                          เริงระบำกันให้สนุก

                          ยามงานเราทำงานจริงจริง                ไม่ละไม่ทิ้งจะเกิดเข็ญขุก

                         ถึงยามว่างเราจึงรำเล่น                       ตามเชิงเช่นเพื่อให้สร่างทุกข์

                         ตามเยี่ยงอย่างตามยุค                        เล่นสนุกอย่างวัฒนธรรม

                         เล่นอะไรให้มีระเบียบ                         ให้งามให้เรียบจึงจะคมขำ

                         มาซิมาเจ้าเอ๋ยมาฟ้อนรำ                    มาเล่นระบำของไทยเราเอย 

  ท่ารำ   ท่ารำส่าย 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

4.เพลงคืนเดือนหงาย (Ken Dern Ngai) 

           คำร้อง  จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร)                                                   ทำนอง อาจารย์มนตรี ตราโมท 

               

               ความหมายเพลง     

                            เวลากลางคืน เป็นคืนเดือนหงาย มีลมพัดมาเย็นสบายใจ แต่ก็ยังไม่สบายใจเท่ากับการ    ที่ได้ผูกมิตรกับผู้อื่น และที่ร่มเย็นไปทั่ว                                  ทุกแห่งยิ่งกว่าน้ำฝนที่โปรยลงมา ก็คือการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเอกราช มีธงชาติไทยเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ร่มเย็นทั่วไป

                                                             

                                                                         เนื้อเพลง 

                                                                 ยามกลางคืนเดือนหงาย                           เย็นพระพายโบกพลิ้วปลิวมา

                              เย็นอะไรก็ไม่เย็นจิต                                            เท่าเย็นผูกมิตรไม่เบื่อระอา

                              เย็นร่มธงไทยปกไทยทั่วหล้า                             เย็นยิ่งน้ำฟ้ามาประพรมเอย

ท่ารำ     ใช้ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

5.เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ (Dong jan wan pen) 

                    คำร้อง                          ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง อาจารย์มนตรี ตราโมท 

                    ท่ารำ                             ใช้ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ 

              ความหมายเพลง   พระจันทร์เต็มดวงที่ลอยอยู่บนท้องฟ้านั้นช่างดูสวยงาม เพราะเป็นพระจันทร์ทรงกลด คือมีแสงเลื่อมกระจายออกรอบดวงจันทร์ทั้งดวง แต่ถึงจะงามอย่างไรก็ยังไม่เท่าความงามของดวงหน้าหญิงสาว ที่ดูผุดผ่องมีน้ำมีนวล อีกทั้งรูปร่างก็ดูสมส่วน กิริยาวาจาก็อ่อนหวานไพเราะ สมแล้วกับที่เปรียบว่าหญิงไทยนี้คือดอกไม้

                                                                                  เนื้อเพลง

                                                              ดวงจันทร์วันเพ็ญ               ลอยเด่นอยู่ในนภา

               ทรงกลดสดสี                                       รัศมีทอแสงงามตา

               แสงจันทร์อร่าม                                   ฉายงามส่องฟ้า

              ไม่งามเท่าหน้า                                    นวลน้องยองใย

              งามเอยแสนงาม                                  งามจริงยอดหญิงชาติไทย

              งามวงพักตร์ยิ่งดวงจันทรา               จริตกิริยานิ่มนวลละไม

              วาจากังวาน                                          อ่อนหวานจับใจ

              รูปทรงสมส่วน                                    ยั่วยวนหทัย

              สมเป็นดอกไม้                                     ขวัญใจชาติเอย

 6.เพลงดอกไม้ของชาติ (Dok mai kong chat

                      ท่ารำ  ใช้ท่ารำยั่ว

                                                                               เนื้อเพลง

                ขวัญใจดอกไม้ของชาติ      งามวิลาสนวยนาดร่ายรำ (ซ้ำ)

เอวองค์อ่อนงาม                                  ตามแบบนาฏศิลป์

ชี้ชาติไทยเนาว์ถิ่น                              เจริญวัฒนธรรม

งานทุกสิ่งสามารถ                              สร้างชาติช่วยชาย

ดำเนินตามนโยบาย                            สู้ทนเหนื่อยยากตรากตรำ

 

7.เพลงหญิงไทยใจงาม (Ying Thai Jai Ngam) 

คำร้อง                         ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ทำนอง  ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

ท่ารำ                           ใช้ท่าพรหมสี่หน้า และท่ายูงฟ้อนหาง 

ความหมายเพลง     ดวงจันทร์ที่ส่องแสงอยู่บนท้องฟ้ามีความงดงามมาก และยิ่งได้แสงอันระยิบระยับของดวงดาวด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ดวงจันทร์นั้นงามเด่นยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนกับดวงหน้าของหญิงสาวที่มีความงดงามอยู่แล้ว ถ้ามีคุณความดีด้วย ก็จะทำให้หญิงนั้นงามเป็นเลิศ ผู้หญิงไทยนี้เป็นขวัญใจของชาติ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ รูปร่างก็งดงาม จิตใจก็กล้าหาญ ดังที่มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ทั่วไป

                                            

      เนื้อเพลง

                        เดือนพราวดาวแวววาวระยับ                แสงดาวประดับส่องให้เดือนงามเด่น

        ดวงหน้าโสภาเพียงเดือนเพ็ญ                             คุณความดีที่เห็นเสริมให้เด่นเลิศงาม

       ขวัญใจหญิงไทยส่งศรีชาติ                                  รูปงามวิลาสใจกล้ากาจเรืองนาม

       เกียรติยศก้องปรากฏทั่วคาม                               หญิงไทยใจงามยิ่งเดือนดาวพราวแพรว

  8.เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า (Dong Jan Kwan Fa) 

              คำร้อง                          ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

              ท่ารำ                            ใช้ท่าช้างประสานงา และท่าจันทร์ทรงกลดแปลง 

             ความหมายเพลง    ในเวลาค่ำคืนท้องฟ้ามีดวงจันทร์ประจำอยู่ ในใจของชายก็มีหญิงอันเป็นสุดที่รักประจำอยู่เช่นกัน สิ่งที่เทิดทูนยกย่องไว้ก็คือชาติไทยที่เป็นเอกราช มีอิสระแก่ตนไม่ขึ้นกับใคร และสิ่งที่แนบสนิทอยู่ในใจของชายก็คือหญิงอันเป็น สุดที่รัก

                                                                            เนื้อเพลง

     ดวงจันทร์ขวัญฟ้า                                  ชื่นชีวาขวัญพี่

                               จันทร์ประจำราตรี                                             แต่ขวัญพี่ประจำใจ

                              ที่เทิดทูนคือชาติ                                               เอกราชอธิปไตย

                              ถนอมแนบสนิทใน           

                                 คือขวัญใจพี่เอย

 9.เพลงยอดชายใจหาญ (Yod Shy Jai Han) 

                 คำร้อง                            ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

                 ท่ารำ                              ใช้ท่าชะนีร่ายไม้   ชายท่าจ่อเพลิงกาฬ

             ความหมายเพลง    ขอผูกมิตรไมตรีกับชายผู้กล้าหาญ และจะขอมีส่วนในการทำประโยชน์ทำหน้าที่ของ          ชาวไทย แม้จะลำบากยากแค้น ก็จะขอช่วยเหลือจนเต็มความสามารถ

                                                                                    เนื้อเพลง

                                              โอ้ยอดชายใจหาญ                              ขอสมานไมตรี

                                    น้องขอร่วมชีวี                                                กอบกรณีย์กิจชาติ

แม้สุดยากลำเค็ญ                                          ไม่ขอเว้นเดินตาม

น้องจักสู้พยายาม                                           ทำเต็มความสามารถ

10.เพลงบูชานักรบ (Boo Cha Nak Rop) 

          คำร้อง      ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง   ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

          ท่ารำ    ใช้ท่าขัดจางนาง และท่าล่อแก้ว    ....      ชายท่าจันทร์ทรงกลด และท่าขอแก้ว

        ความหมายเพลง      น้องรักและบูชาพี่ เพราะมีความกล้าหาญ เป็นนักสู้ที่เก่งกล้าสามารถสมกับเป็นชายชาตินักรบที่มีความมานะอดทน แม้ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญ พี่ก็ต่อสู้จนชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว นอกจากนี้ยังขยันขันแข็งในงานทุกอย่าง อุตส่าห์สร้างหลักฐานให้มั่นคง และพี่ยังมีความรักในชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าชีวิต ยอมสละได้แม้ชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อให้ชาติไทยคงอยู่คู่โลกต่อไป

                                                                                                        เนื้อเพลง

                                             น้องรักรักบูชาพี่                      ที่มั่นคงที่มั่นคงกล้าหาญ

                              เป็นนักสู้เชี่ยวชาญ                                 สมศักดิ์ชาตินักรบ

                              น้องรักรักบูชาพี่                                      ที่มานะที่มานะอดทน

                             หนักแสนหนักพี่ผจญ                            เกียรติพี่ขจรจบ

                            น้องรักรักบูชาพี่                                      ที่ขยันที่ขยันกิจการ

                            บากบั่นสร้างหลักฐาน                           ทำทุกด้านทำทุกด้านครันครบ

                            น้องรักรักบูชาพี่                                     ที่รักชาติที่รักชาติยิ่งชีวิต

                            เลือดเนื้อพี่พลีอุทิศ                                ชาติยงอยู่ยงอยู่คู่พิภพ