รำประเลง

ความเป็นมา

            รำประเลง เป็นชื่อระบำเบิกโรงของละครใน มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าตรงกับการแสดงที่เรียกว่า “ปรุวรงค” ของละครสันสกฤต แต่ไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด ประเลง เป็นระบำคู่ 2 คน ผู้รำแต่งตัวเช่นเดียวกันกับนายโรงละครไทย คือการแต่งกายยืนเครื่องพระ แต่สวมหัวเทวดาศีรษะโล้น มือถือกำหางนกยูงข้างละมือ ไม่มีบทขับร้อง มีแต่เพลงหน้าพาทย์ ประกอบจังหวะการรำ เรียงลำดับดังนี้ คือ เพลงกลม เพลงชำนาญ เพลงกลม(ครั้งที่2) และเพลงเชิด

                เพลงหน้าพาทย์ ดังกล่าว มีความหมายที่วิเคราะห์ ได้ดังนี้

                            เพลงกลม หมายถึง เทวดาสำคัญเดินทางมายังมณฑลพิธี เพลงกลมใช้ประกอบการแสดงมาของเทพเจ้าสำคัญ เช่น                                                      พระนารายณ์ พระอินทร์ พระวิสุกรรม เงาะในเรื่องสังข์ทอง ซึ่งถือว่าเป็นรูปกายสิทธิ์

                            เพลงชำนาญ หมายถึง เทวดาประสาทพรชัยมงคล ให้กับผู้ชม สถานที่แสดง

                            เพลงกลม(ครั้งที่2) หมายถึง เทวดาแสดงความรื่นเริงยินดี (วิเคราะห์จากกระบวนท่ารำที่ปรากฏ)

                            เพลงเชิด หมายถึง เทวดาเหล่านั้นเสด็จกลับสู่ทิพยวิมาน

            กระบวนท่ารำที่ปรากฏและสืบทอดอยู่ทุกวันนี้ เป็นรูปแบบที่สืบทอดโดยตรงจากละครหลวงของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผ่านมายังคณะละครวังสวนกุหลาบ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา จนถึง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และกรมศิลปากร

            จุดประสงค์สำคัญในการแสดงรำประเลง นอกจากจะเป็นจารีตประเพณีการแสดงเบิกโรงรูปแบบราชสำนักแล้ว ยังมีความเชื่อว่าเป็นการแสดงที่ก่อให้เกิดสวัสดิมงคล ขจัดอุปสรรค ให้การแสดงในคราวนั้น ๆ ประสบผลสำเร็จทุกประการ

            ปัจจุบันการแสดงชุดนี้ มีการรักษาไว้ในสถาบันการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ กรมศิลปากร แต่โอกาสที่นำออกแสดงเผยแพร่มีน้อยมาก เนื่องจากการแสดงในปัจจุบัน ไม่นิยมการแสดงเบิกโรงก่อนการแสดงเรื่องใหญ่ๆ แต่นิยมแสดงเรื่องใหญ่เรื่องเดียว

อุปกรณ์ประกอบการแสดง

        มือถือกำหางนกยูงข้างละมือ 

        การรำประเลงเบิกโรงเป็นการสมมุติว่าเทวดาลงมารำ เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล และปัดรังควานป้องกันเสนียดจัญไร ที่มาของการรำประเลงนั้น ท่านผู้รู้เล่ากันว่า แต่เดิมก่อนการแสดงละคร จะมีผู้ถือไม้กวาดออกมาปัดกวาด ทำความสะอาดโรงละครเสียก่อน ผู้ที่ออกมาปัดกวาดเหล่านี้มักจะเป็นศิลปิน เวลาปัดกวาดก็คงทำท่าอย่างรำละครไปด้วย ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปไทยก็เลยคิดประดิษฐ์เป็นท่ารำ แล้วให้ผู้แสดงถือหางนกยูงแทนการถือไม้กวาด ออกมาร่ายรำในเชิงความหมายปัดรังควาน

วิดีทัศน์ประกอบการแสดง   "รำประเลง"

 

ที่มา ; https://www.youtube.com/watch?v=SJe7KoDXUFo

ที่มา; https://www.youtube.com/watch?v=RLXu8CRA45c